นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค ภายใต้ชื่อเรื่องว่า “เราเลือกผู้แทนราษฎรไปทำไม(3)” โดยมีเนื้อหาใจความว่า “-เมื่อสังคมมีความซับซ้อน ยุ่งยากมากขึ้น บางครั้งตัวแทนก็ไม่อาจคาดเดาความต้องการของประชาชนได้ แม้รับฟังความเห็นของประชาชนแล้วก็อาจมีความผิดพลาดได้ เพราะประชาชนบางส่วนก็มิได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการรับฟังความเห็น เพราะการรับฟังความเห็นอาจมีการจัดตั้งมาเป็นกระบวนการ เมื่อเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการทราบความเห็นของประชาชนจริงๆ จึงต้องใช้วิธี”ประชาธิปไตยทางตรง” คือให้ประชาชนไปลงประชามติ ประเทศไทยก็เคยใช้ประชาธิปไตยทางตรงมาแล้ว เช่น กรณีการลงประชามติรัฐธรรมนูญ ในอนาคตเมื่อการสื่อสารทำได้ง่ายและทั่วถึงเรื่องสำคัญบางเรื่องตัวแทน(ผู้แทนราษฎร) ก็อาจคืนอำนาจการตัดสินใจให้ประชาชนตัดสินใจเอง ในโลกสมัยใหม่จึงเริ่มมีการคิดวิธีให้ประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงมากขึ้น แต่การใช้อำนาจอธิปไตยผ่านตัวแทน(ผู้แทนราษฎร)ก็ยังเป็นหลักในระบอบประชาธิปไตย/”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ (10 ก.ย.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค กล่าวภายใต้ชื่อเรื่องว่า “เราเลือกผู้แทนราษฎรไปทำไม” โดยระบุว่า “*เราเลือกผู้แทนราษฎรไปทำไม ( 1 )
-มีคนถามเสมอว่า เราเลือกผู้แทนราษฎรไปทำไม ตอบได้ว่า เราเลือกให้เขาไปใช้”ดุลยพินิจ” แทนเรา หลายคนบอกว่า คนเป็นครู ก็ต้องเลือกครูเป็นผู้แทน คนเป็นหมอก็ต้องเลือกหมอเป็นผู้แทน ตอบว่าผิด เพราะผู้แทนราษฎรมิใช่ผู้แทนของ”กลุ่มอาชีพ” แต่เป็น”ผู้แทนปวงชนชาวไทย” เพราะปีหนึ่งๆจะมีกฎหมายเกี่ยวกับครู หรือ หมอ กี่ฉบับที่ต้องพิจารณาในสภา บางปีอาจไม่มีเลยก็ได้ แล้วตัวแทนกลุ่มอาชีพจะมีประโยชน์อะไร ที่กล่าวว่า เราเลือกผู้แทนราษฎรเพื่อให้เขาใช้”ดุลยพินิจ”แทนเรา เพราะเราเชื่อว่า ผู้แทนของเราแม้เขาไม่ถนัดในเรื่องใดแต่เมื่อเขาได้ฟังการอภิปรายในสภา เมื่อเขาได้เห็นข้อมูลในสภา เขาสามารถใช้ดุลยพินิจที่ถูกต้องแทนเราได้ ผู้แทนราษฎร จึงเป็นบุคคลที่เมื่อได้รับทราบปัญหาใดๆของประเทศแล้ว เราต้องมั่นใจว่า เขาต้องเป็นผู้ที่สามารถใช้”ดุลยพินิจ”ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง/”

นายนิพิฏฐ์ กล่าวในอีกตอนโดยระบุว่า “*เราเลือกผู้แทนราษฎรไปทำไม(2)
-ผมกล่าวไว้ในตอนที่ 1 ว่า ผู้แทนราษฎร ไม่จำเป็นต้องรอบรู้และเชี่ยวชาญในทุกเรื่อง เพียงแต่สามารถใช้”ดุลยพินิจ” ได้อย่างถูกต้องโดยไม่ทำให้บ้านเมืองเสียหายก็พอแล้ว แต่เมื่อสังคมมีความเจริญมากขึ้น และมีความซับซ้อนเกินความสามารถของผู้แทนราษฎร แล้วผู้แทนฯจะทำอย่างไรล่ะ ในกรณีนี้เขาให้ผู้แทนราษฎรใช้”การรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วม” เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจ เพราะการรับฟังความเห็นและการให้ประชาชนมีส่วนร่วมจะทำให้ผู้แทนราษฎรตัดสินใจไม่ผิดพลาด ผู้แทนฯจึงต้องมีความใกล้ชิดกับประชาชนจึงจะทราบว่าประชาชนคิดอย่างไร จึงจะสามารถใช้ดุลยพินิจตัดสินใจแทนประชาชนได้โดยไม่ผิดพลาด/”

*เราเลือกผู้แทนราษฎรไปทำไม(3)-เมื่อสังคมมีความซับซ้อน ยุ่งยากมากขึ้น…

โพสต์โดย นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เมื่อ วันจันทร์ที่ 10 กันยายน 2018